ให้ “เทคโนโลยี” ดูแล “มันสำปะหลัง”

ให้ “เทคโนโลยี” ดูแล “มันสำปะหลัง”

ท่ามกลางแสงแดดแรงกล้า ไอร้อนระอุแผ่ซ่านไปทุกตารางนิ้วในพื้นที่ต.วังชะพลู สองข้างทางถนนลูกรังละลานตาด้วยแปลง “มันสำปะหลัง” พืชที่ว่ากันว่าปลูกแล้วให้เทวดาดูแล ยืนต้นชูใบมิเกรงกลัวความร้อน รอเวลาที่ชาวบ้านจะเก็บผลผลิตสร้างรายได้หลักให้พวกเขา

แม้ต้องการหาทางเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่ได้เพียง 2-3 ตันต่อปี ลดต้นทุนค่าปุ๋ยที่สูงขึ้น แต่ประสบการณ์จากภาครัฐ ทำให้ ศรีโพธิ์ ขยันการนาวี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.วังชะพลู อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ลังเลทุกครั้งเมื่อมีโครงการใดเข้ามาในพื้นที่

“ที่ผ่านมาเบื่อนักวิชาการ มาแล้วก็หายไป ขออย่างเดียว อย่าทิ้งเกษตรกร ถ้าไม่ทิ้ง เกษตรกรเขาสนใจอยู่แล้ว” ข้อความที่ ศรีโพธิ์ บอกต่อทีมผู้เชี่ยวชาญโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง” หลังจากที่เข้าตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ในปี 2557 เมื่อได้ไปเห็นแปลงมันสำปะหลังที่นครราชสีมาที่ได้เข้าร่วมโครงการ

“ปลูกมันก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ สายพันธุ์ไหนใครว่าดี ก็ปลูกตามกัน สูตรปุ๋ยนึกอยากใส่แค่ไหนก็ใส่ ปลูกก็ปลูกถี่ๆ คิดว่าต้นมากได้หัวมาก ไม่เคยคิดว่าค่าใช้จ่ายหมดไปเท่าไหร่” ศรีโพธิ์ เล่าย้อนถึงวิถีการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรที่นี่ แต่หลังจากที่เขาและสมาชิกกว่า 100 คนของกลุ่ม “กำแพงเพชรโมเดล” ได้เข้าอบรมกับโครงการเพิ่มประสิทธิการผลิตมันสำปะหลัง สิ่งที่พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนเป็นอย่างแรก คือ ระยะการปลูก และใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยเริ่มทำที่คนละ 5 ไร่

“ทุกคนอยากเปลี่ยน เพราะอยากได้ผลผลิตเพิ่ม ที่ผ่านมาแต่ละปีไม่แน่นอน ดีบ้าง ไม่ได้บ้าง ใส่ปุ๋ยเยอะแล้ว แต่ทำไมไม่ดี” ศรีโพธิ์ บอกถึงเหตุผลหลักที่เขาและสมาชิกต่างยินยอมปรับเปลี่ยน โดยปลูกที่ระยะห่าง 80 ซม. จากเดิม 40-50 ซม. และเก็บดินมาตรวจวิเคราะห์ ซึ่งพบว่าธาตุอาหารในดินต่ำ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ใส่อินทรียวัตถุเพิ่มและใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม

เพียงรอบปลูกแรก ผลผลิตของสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 5 ตัน/ไร่ ขณะที่แปลงของศรีโพธิ์ซึ่งเป็นแปลงเรียนรู้และใช้ระบบน้ำหยดด้วย ได้ผลผลิต 6 ตัน/ไร่ สร้างรอยยิ้มและความเชื่อมั่นให้เกษตรกรมากยิ่งขึ้น รอบการผลิตต่อมาสมาชิกจึงใช้วิธีปลูกใหม่นี้กับพื้นที่ทั้งหมดของตนเองและเพิ่มระบบน้ำหยดให้เหมือนกับแปลงเรียนรู้ของศรีโพธิ์

“ปีนั้นขุดสระและขุดบ่อบาดาลเพื่อใช้ทำระบบน้ำหยดเป็นกระแสไปทั่วอำเภอขานุฯ มาดูจากแปลงเรียนรู้ แล้วไปวางท่อวางระบบกันเอง ปรากฏเจอภัยแล้งต่อเนื่อง ผลผลิตลดเหลือ 2-3 ตัน ถอดใจกันหมด สมาชิกถึงขนาดร้องไห้ ผมก็ยังร้องไห้ สงสารสมาชิก ลงทุนไปเยอะ แล้วสมาชิกไปคิดว่าเป็นเพราะใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ คนก็เลยไม่เชื่อ ไม่เอาแล้ว อบรมแล้วไม่มีความหมาย ถึงขั้นจะยุบกลุ่ม” ศรีโพธิ์ ย้อนวิกฤตที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม จนตัวเขา ผู้เชี่ยวชาญ และโรงแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกทั้งเรื่องสภาพอากาศและวิธีการทำระบบน้ำหยด เรียกขวัญและสร้างกำลังใจให้กลับมาลองใหม่กันอีกครั้ง รวมถึงจัดอบรมเรียนรู้การวางระบบน้ำหยดให้ถูกต้อง พร้อมเสริมความรู้การปรับโครงสร้างดิน ทำให้ผลผลิตรอบถัดมาดีขึ้นอย่างชัดเจน สมาชิกบางคนได้ผลผลิตสูงถึง 7-8 ตัน/ไร่

แปลงมันสำปะหลัง 31 ไร่ของศรีโพธิ์เป็นแปลงเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้พื้นที่ทดสอบสายพันธุ์ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือแม้แต่การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ที่นี่จึงเป็นทั้งแปลงเรียนรู้และแปลงทดลองที่ทำให้ศรีโพธิ์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ และส่งต่อความรู้ให้สมาชิก ซึ่งเขาบอกว่าบางคนมาเรียนรู้จากแปลงนี้อยู่ 2 ปีแล้วค่อยลงมือทำ ปรากฏได้ผลผลิตถึง 9 ตัน/ไร่

“บ้านผมแต่ก่อนบ้าพันธุ์ เอาหลายพันธุ์มาปลูก แต่ทุกวันนี้เหมือนลองใจคน เขามาดูแปลงเพื่อมาดูว่าเราใช้พันธุ์อะไร แต่เขาก็ได้อย่างอื่นจากแปลงนี้ จริงๆ แล้วพันธุ์ไหนก็ได้ แต่เราเปลี่ยนวิธีการใส่ปุ๋ย วิธีทำดิน พันธุ์ไหนที่เราคิดว่าดีแล้ว ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยน ไปซื้อให้เปลืองตังค์ แค่ทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตและได้แป้งดี”

นอกจากการปรับเปลี่ยนระยะปลูก การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับโครงสร้างดิน และการใช้ระบบน้ำหยดแล้ว สายพันธุ์มันสำปะหลังยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ซึ่งเหล่าสมาชิกที่นี่จะได้รับคำแนะนำสายพันธุ์ที่เหมาะกับดินแต่ละชนิด

“ที่นี่เราทำมันคุณภาพ คุณภาพคือ ใช้พันธุ์ที่ได้รับรอง มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ไม่จำเป็นต้องหัวใหญ่หรือน้ำหนักเยอะ แล้งก็ยังมีแป้ง ฝนก็ยังมีแป้ง แล้วค่อยไปเพิ่มจานวนผลผลิตด้วยวิธีอื่นต่อ”

กว่า 5 ปีที่ “กลุ่มกำแพงเพชรโมเดล” ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกมันสำปะหลัง จากที่ให้เทวดาดูแล ทุกวันนี้เกษตรกรเข้าไปดูแลเองโดยมีความรู้ที่ถูกต้องจากการเข้าร่วมโครงการ ผลผลิตที่สมาชิกปลูกแบบอาศัยน้ำฝนได้ไม่ต่ำกว่า 5 ตัน/ปี ขณะที่ใช้น้ำหยดได้ผลผลิต 6-7 ตัน/ปี นอกจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งที่สมาชิกต่างได้รับชัดเจนคือ รายจ่ายที่ลดลงโดยเฉพาะค่าปุ๋ย

“เราต้องดูแลเพิ่มขึ้น เปลี่ยนระยะปลูก หมั่นเข้าดูแลแปลงของตัวเอง ทำเอง ไม่ต้องจ้าง เข้าไปดูว่ามีโรคอะไรบ้างมั้ย ส่วนใหญ่เข้ากันประจำอยู่แล้ว เพราะว่าพอได้ผลผลิตดี คนก็เริ่มอยากเข้าไร่ อยากไปดูแลให้ดี เป็นความภูมิใจ” ศรีโพธิ์ บอกทิ้งท้าย

# # #

สวทช. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินโครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ได้แก่ การตรวจดิน การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม การจัดการโรคและแมลงตามหลักวิชาการ และการใช้ระบบน้ำหยด เกิดแปลงเรียนรู้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง 4 แห่งในจังหวัดกาญจนบุรีและกำแพงเพชร พร้อมทั้งขยายผลและสร้างเครือข่ายในจังหวัดลำปาง กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี

ที่มา: หนังสือ วิทย์พลิกชีวิต: เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี (ปี 2562)

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.